เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [อปรคาถาสังคณิกะ] 1. โจทนาทิปุจฉาวิสัชชนา
อปรคาถาสังคณิกะ
ว่าด้วยกลุ่มคาถาอีกกลุ่มหนึ่ง
1. โจทนาทิปุจฉาวิสัชชนา
ว่าด้วยคำถาม และคำตอบการโจท เป็นต้น
[359] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า
“การโจทเพื่อประโยชน์อะไร การสอบสวนเพื่อเหตุอะไร
สงฆ์เพื่อประโยชน์อะไร ส่วนการลงมติเพื่อเหตุอะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“การโจทเพื่อประโยชน์ให้ระลึก การสอบสวนเพื่อประโยชน์จะข่ม
สงฆ์เพื่อประโยชน์จะช่วยกันพิจารณา
ส่วนการลงมติเพื่อช่วยกันวินิจฉัยแต่ละเรื่อง
ถ้าเธอเป็นผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ อย่าด่วนพูด
อย่าพูดด้วยความเกรี้ยวกราด
อย่ายั่วความโกรธ อย่าพูดโดยผลุนผลัน
อย่ากล่าวถ้อยคำชวนวิวาทไม่ประกอบด้วยประโยชน์
วัตรคือการซักถามอันอนุโลมแก่สิกขาบท
ที่พระพุทธเจ้าผู้เฉียบแหลมมีพระปัญญาทรงวางไว้
ตรัสไว้ดีแล้วในพระสูตร ในพระวินัย
ในอนุโลม ในพระบัญญัติ และอนุโลมิกะ1
เธอจงพิจารณาวัตรคือการซักถามนั้น
อย่าให้เสียคติที่เป็นไปในสัมปรายภพ เป็นผู้ไฝ่หาประโยชน์
จงซักถามถ้อยคำที่ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาล

เชิงอรรถ :
1 พระสูตร คืออุภโตวิภังค์ พระวินัย คือขันธกะ อนุโลม คือปริวาร พระบัญญัติ คือพระวินัยปิฎก
อนุโลมิกะ คือมหาปเทส (วิ.อ. 3/359/495)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :539 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [อปรคาถาสังคณิกะ] 1. โจทนาทิปุจฉาวิสัชชนา
สำนวนที่กล่าวโดยผลุนผลันของจำเลยและโจทก์
เธออย่าเชื่อถือ โจทก็ฟ้องว่าต้องอาบัติ
แต่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้ต้องอาบัติ เธอต้องสอบสวนทั้งสองฝ่าย
พึงปรับตามคำรับสารภาพ และถ้อยคำสำนวน
คำรับสารภาพ เรากล่าวไว้ในหมู่ลัชชี
แต่ข้อนั้น ไม่มีในหมู่อลัชชี อนึ่ง ภิกษุอลัชชีพูดมาก
เธอพึงปรับตามถ้อยคำสำนวนดังกล่าวแล้ว”

อลัชชีบุคคล
พระอุบาลีกราบทูลว่า
“อลัชชี เป็นคนเช่นไร คำรับสารภาพของผู้ใดฟังไม่ขึ้น
ข้าพระพุทธเจ้าทูลถามพระองค์ถึงข้อนั้น
คนเช่นไร พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า อลัชชีบุคคล”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ผู้ที่จงใจต้องอาบัติ ปกปิดอาบัติ และถึงความลำเอียง
คนเช่นนี้ เราเรียกว่า อลัชชีบุคคล”

ลัชชีบุคคล
พระอุบาลีกราบทูลว่า
“จริง พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ทราบแล้วว่า
คนเช่นนี้เป็นอลัชชีบุคคล
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามพระองค์ถึงข้ออื่น
คนเช่นไร พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า ลัชชีบุคคล”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ผู้ที่ไม่จงใจต้องอาบัติ ไม่ปกปิดอาบัติ ไม่ถึงความลำเอียง
คนเช่นนี้ เราเรียกว่า ลัชชีบุคคล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :540 }